Saturday, March 10, 2018

ประวัติจังหวัดตรัง

ขอบคุณที่มาจากเว็บไซต์ยูทูป : Sikanda laksna-aree

ประวัติศาสตร์จังหวัดตรัง (ฉบับย่อ)

     ตรังเป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทยด้านฝั่งทะเลตะวันตก มีหลักฐานความเป็นมาที่ยาวนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ส่วนการแบ่งยุคหรือสมัยประวัติศาสตร์ของตรังในที่นี้พิจารณาจากเหตุการณ์ภายในของเมืองตรังเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องที่ตั้งเมืองซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามศูนย์อำนาจ แบ่งได้ดังนี้

๑.สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (ประมาณก่อนพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๔)

     บรรพบุรุษของชาวตรังส่วนหนึ่งพัฒนาจากมนุษย์ถ้ำที่หาของป่าล่าสัตว์  มารู้จักปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กลายเป็นหมู่เขา และหมู่นาหรือหมู่ทุ่ง แต่ยังมีอีกส่วนหนึ่งยังคงวิถีดั้งเดิมเป็นที่รู้จักกันในนามหมู่ซาไก  รวมทั้งกลุ่มที่เร่ร่อนไปในทะเลก็สร้างที่อยู่ถาวรตามชายฝั่ง ยังชีพด้วยการประมงจนกลายเป็นหมู่เลในที่สุด นับเป็นการเข้าสู่สังคมเกษตรกรรมและพัฒนาเรื่อยมาจนเกิดชุมชนใหญ่ริมแม่น้ำตรัง
     ต่อมาเมื่อแม่น้ำตรังเป็นเส้นทางข้ามคาบสมุทรไปสู่เมืองท่าฝั่งตะวันออก มีการกล่าวถึงชื่อ“ตะโกลา” เมืองท่าฝั่งตะวันตกที่ปรากฏในแผนที่ปโตเลมี ราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ ทำให้นักวิชาการบางกลุ่มกล่าวว่าเมืองตรังน่าจะเป็นที่ตั้งของตะโกลา แต่ก็เป็นเพียงข้อถกเถียงที่ยังไม่ยุติ

๒.สมัยประวัติศาสตร์ (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ -๑๔ ถึงปัจจุบัน)
หลักฐานรุ่นแรก ๆ ได้แก่ จารึกเขาช่องคอย ที่พวกศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย จารึกไว้ขณะใช้เส้นทางแม่น้ำตรังแล้วแยกเข้าคลองกะปาง ผ่านหุบเขาช่องคอยไปยังนครศรีธรรมราช จากนั้นก็มีโบราณวัตถุ ได้แก่ พระพิมพ์ดินดิบ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ พบที่ถ้ำต่าง ๆ ในแถบอำเภอห้วยยอด แสดงถึงการผ่านเข้ามาของพุทธศาสนานิกายมหายาน ที่เข้าสู่ชุมชนตามแนวแม่น้ำตรัง
ต่อมามีตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานนางเลือดขาว และตำนานท้องถิ่นตรังเรื่องการสร้างวัดสร้างพระที่เชื่อมโยงกับพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช บ่งบอกถึงการรับพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ทำให้เห็นความเป็นปึกแผ่นของชุมชนคนตรังหมู่เขา ในแถบชายเขา และหมู่ทุ่ง ในแถบลุ่มน้ำที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำตรัง มีศาสนสถานและศาสนวัตถุเป็นศูนย์กลาง ขณะนั้นคงมีการปกครองในลักษณะเมืองแล้ว เพราะตำนานเอ่ยชื่อเจ้าเมืองตรัง หนึ่งในเมือง ๑๒ นักษัตร ของนครศรีธรรมราช ว่าเป็นเมืองตราม้าประจำปีมะเมีย แต่ที่ตั้งเมืองคงจะอยู่ทางเหนือขึ้นไป
เมื่อกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีได้ไม่นานนัก ประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็ก้าวสู่ยุคใหม่ ด้วยประเทศตะวันตกที่เข้ามาเพื่อแสวงหาดินแดนที่อุดมด้วยทรัพยากร เริ่มจากโปรตุเกสเข้ายึดครองมะละกาและตั้งสถานีการค้าเป็นชาติแรก จากนั้นฮอลันดาและชาติอื่น ๆ ตามมาเป็นลำดับ ดินแดนแหลมมลายูจึงกลายเป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างชาติตะวันตกและตะวันออก ทำให้เมืองท่าการค้าหลายแห่งรุ่งเรืองขึ้น เช่น สงขลา ปัตตานี สิงคโปร์ เคดะห์ ขณะที่อาณาจักรไทยซึ่งเคยแผ่อำนาจไปถึงมะละกาก็ยอมรับในการเข้ามาของชาวตะวันตก ดังในสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ โปรตุเกสเป็นฝรั่งชาติแรกที่เข้ามาติดต่อกับไทย ถึง ๒ ครั้ง ใน พ.ศ.๒๐๕๔ และ พ.ศ.๒๐๕๖ โดยผ่านท่าเรือเมืองตรัง  ความเป็นท่าเรือหมายถึงการมีชุมชนในบริเวณนั้น และคงจะต่อเนื่องจากสมัยการเข้ามาของพระพิมพ์ดินดิบ จากนั้นจึงมีหลักฐานชัดเจนถึงที่ตั้งเมืองตรัง ซึ่งแบ่งเป็นช่วงสมัย ดังนี้

          ๒.๑ สมัยตั้งเมืองที่เขาสามบาตร (ก่อน พ.ศ.๒๐๕๔ – ต้นรัตนโกสินทร์)
     การเข้ามาของโปรตุเกสแสดงว่าชาวยุโรปรู้จักเมืองตรังแล้วในฐานะเมืองท่าปากประตูสู่อาณาจักรไทย แต่ไม่สามารถหาหลักฐานศูนย์กลางที่ตั้งเมืองว่าอยู่ ณ จุดใด จนกระทั่งเวลาผ่านมาอีกร้อยปี จึงมีจารึกเขาสามบาตร หรือเขาสะบาป พ.ศ.๒๑๕๗ ที่ตำบลนาตาล่วง อำเภอเมืองตรังปัจจุบัน เป็นหลักฐานว่าที่ตั้งเมืองอยู่ตรงบริเวณนั้นมาก่อนจารึกและต่อเนื่องมาอีกยาวนาน
ในสมัยธนบุรี พ.ศ.๒๓๑๙ มีชื่อเมืองตรังปรากฏในแผนที่โบราณในสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงธนบุรี และในปีเดียวกันนี้สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯ ให้ยกหัวเมืองทั้งหมดของนครศรีธรรมราชไปขึ้นกับกรุงธนบุรี ยกเว้นเมืองท่าทองทางฝั่งทะเลตะวันออก และเมืองตรังทางฝั่งทะเลตะวันตก ฐานะของเมืองตรังจึงยังเป็นเมืองในกำกับของนครศรีธรรมราช
เมื่อเริ่มสมัยรัตนโกสินทร์ ที่ตั้งเมืองคงอยู่ที่เขาสามบาตร และบางช่วงที่ตั้งบ้านผู้ว่าราชการอยู่ที่บ้านนาแขก ตำบลหนองตรุด
ช่วงนั้นปรากฏว่ามีเมืองภูราอีกเมืองหนึ่ง จนถึง พ.ศ.๒๓๓๐ พระภักดีบริรักษ์ผู้ว่าราชการเมือง ได้ขอรวมเมืองตรังทางฝั่งตะวันตกแม่น้ำตรังกับเมืองภูราทางฝั่งตะวันออก เป็นเมืองตรังภูรา

๒.๒ สมัยตั้งเมืองที่เกาะลิบง(ต้นรัตนโกสินทร์ก่อน พ.ศ. ๒๓๔๗ - ๒๓๕๔)
โต๊ะปังกะหวาปลัดเมืองซึ่งอยู่ที่เกาะลิบงได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาลิบง ผู้ว่าราชการเมือง เกาะลิบงจึงเป็นที่ตั้งเมืองตามที่อยู่ของผู้ว่าราชการและเป็นท่าเรือค้าขาย ทั้งเป็นศูนย์กลางระหว่างเมืองทางทะเลหน้านอก เช่น ถลาง ปีนัง ต่อมาพระยาลิบงเกิดไม่ลงรอยกับเจ้าพระยานครฯ(พัด)รัชกาลที่ ๑ จึงให้เมืองตรังภูรามาขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ ใน
พ.ศ.๒๓๔๗ เมื่อสิ้นพระยาลิบง หลวงฤทธิสงครามได้ว่าราชการต่อมา แต่ไม่สันทัดการบริหารบ้านเมือง รัชกาลที่ ๒ จึงให้ขึ้นต่อสงขลา เมื่อหลวงฤทธิสงครามถึงแก่กรรม เมืองตรังภูราถูกยกกลับมาขึ้นต่อนครศรีธรรมราชอีกครั้งหนึ่ง

          ๒.๓ สมัยตั้งเมืองที่ควนธา นี (พ.ศ.๒๓๕๔ – ๒๔๓๖)
พ.ศ.๒๓๕๔ พระบริรักษ์ภูเบศร์(น้อย)ได้เลื่อนเป็นผู้สำเร็จราชการเมืองนครฯ ได้ปรับปรุงตำแหน่งกรมการเมือง มีชื่อหลวงอุภัยราชธานีเป็นผู้พยาบาลเมืองตรัง ตั้งเมืองที่ควนธานี เมืองตรังยังคงฐานะเป็นเมืองท่าหน้าด่านของนครศรีธรรมราช เจ้าพระยานครฯ(น้อย)เข้ามาจัดการเมืองตรังให้เป็นเมืองท่าค้าขายและฐานทัพเรือเพื่อควบคุมหัวเมืองมลายู สินค้าออกที่สำคัญ ได้แก่ ช้าง และดีบุก เมืองตรังเป็นที่ต้องรับทูตอังกฤษจากปีนังถึง ๒ ครั้ง และถูกโจรสลัดหวันมาลีเข้าตีเมืองเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๑ หลังจากนั้นไม่ค่อยปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับเมืองตรัง
เมื่อถึงต้นรัชกาลที่ ๕ หัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตกมีความสำคัญยิ่งขึ้นในฐานะเป็นแหล่งดีบุก ทางส่วนกลางจึงส่งข้าหลวงใหญ่ฝ่ายทะเลตะวันตกมาประจำที่ภูเก็ตตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๑๘ ต่อมาพวกกรรมกรจีนก่อจลาจล ข้าหลวงฯ จึงมาประจำอยู่ที่เมืองตรังคือที่ควนธานี ฝ่ายสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)อดีตผู้สำเร็จราชการในรัชกาลที่ ๕ ก็ออกมาปรับปรุงเมืองตรัง และให้เมืองตรังขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ แต่สมเด็จเจ้าพระยาฯ ถึงแก่พิราลัยเสียก่อน เมืองตรังถูกปกครองโดยข้าหลวงฯ จากภูเก็ต จนถึง พ.ศ.๒๔๓๑ พระยาตรังคภูมาภิบาล (เอี่ยม) ได้เป็นผู้ว่าราชการเมือง ต่อมารัชกาลที่ ๕ เสด็จฯ เมืองตรัง ใน พ.ศ. ๒๔๓๓ ทรงเห็นว่าบ้านเมืองทรุดโทรม จึงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้ว่าราชการเมืองคนใหม่ คือพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี(คอซิมบี๊)ซึ่งได้ย้ายที่ตั้งเมืองไปยังตำบลกันตังสำเร็จเรียบร้อยใน พ.ศ.๒๔๓๖

๒.๔ สมัยตั้งเมืองที่กันตัง (พ.ศ.๒๔๓๖-๒๔๕๘)
        พระยารัษฎาฯ เริ่มงานพัฒนา ได้แก่ การวางผังเมือง ก่อสร้างสถานที่ราชการ ตัดถนนเพิ่มระหว่างอำเภอและจังหวัดใกล้เคียง เปิดการค้ากับต่างประเทศอย่างเป็นระบบ และนำพันธุ์ยางพารามาส่งเสริมให้ราษฎรปลูกที่เมืองตรังเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ระหว่างนั้นเมืองตรังเป็นส่วนหนึ่งของมณฑลภูเก็ต ต่อมา พ.ศ.๒๔๕๓ โครงการทางรถไฟสายใต้ได้กำหนดสายแยกจากทุ่งสงมาสุดปลายทางที่ท่าเรือกันตัง จนเปิดการเดินรถได้ใน พ.ศ.๒๔๕๖ การพัฒนาทุกด้านทำให้เมืองตรังก้าวสู่ความเจริญอย่างรวดเร็ว จนมีชื่อกันตังเป็นเมืองท่าในแผนที่โลก

๒.๕ สมัยตั้งเมืองที่ทับเที่ยง (พ.ศ.๒๔๕๘ – ปัจจุบัน)
        พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ รัชกาลที่ ๖ เสด็จฯ เมืองตรังในปี พ.ศ.๒๔๕๘ ซึ่งอยู่ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ ทรงเห็นว่าที่กันตังไม่ปลอดภัยในยามสงคราม ทั้งเป็นที่ลุ่มมักทำให้เกิดโรคระบาด และยากแก่การขยายเมือง ส่วนที่ตำบลทับเที่ยง อำเภอบางรักหรืออำเภอเมืองตรังในปัจจุบัน เป็นที่ชุมชนมากกว่า ภูมิประเทศก็เหมาะสม จึงโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายที่ตั้งเมืองไปที่ตำบลทับเที่ยง ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๘ และเป็นที่ตั้งเมืองมาจนถึงปัจจุบัน

ประวัติศาสตร์จังหวัดตรัง
ฉบับใช้เป็นความนำ

ตรังเป็นเมืองท่าโบราณที่มีประวัติยาวนานนับพันปี สามารถย้อนกลับไปได้ถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่ผู้คนยังไม่รู้จักสื่อสารด้วยตัวอักษร มีหลักฐานตามถ้ำเขาต่าง ๆ ว่าบรรพบุรุษของชาวตรังอาศัยอยู่บนแผ่นดินนี้มาไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ - ๑๐,๐๐๐ ปี
ต่อมาเมื่อเข้าสู่สมัยความรุ่งเรืองของอาณาจักรโบราณในภาคใต้ เช่น ตามพรลิงค์ ศรีวิชัย แม่น้ำตรังเป็นหนึ่งในเส้นทางข้ามคาบสมุทรของผู้คนจากอินเดีย อาหรับ ตลอดจนยุโรป อ้างอิงได้จากโบราณวัตถุที่ยังหลงเหลืออยู่และตำนานท้องถิ่น เช่น พระพิมพ์ดินดิบที่ถ้ำในเขตอำเภอห้วยยอด ตำนานนางเลือดขาวที่กล่าวถึงการสร้างวัดพระศรีสรรเพชญพุทธสิหิงค์ หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าท่าเรือเมืองตรังเป็นประตูทางผ่านศาสนา การค้าและการทูตจากต่างแดนตั้งแต่เริ่มอาณาจักรโบราณในภาคใต้ โดยเมืองตรังมีชื่อในฐานะเป็นหนึ่งในเมือง ๑๒ นักษัตร ของนครศรีธรรมราช
ที่ตั้งเมืองแต่เดิมเข้าใจว่าอยู่ทางต้น ๆ ของแม่น้ำตรัง เพิ่งมีหลักฐานชัดเจนในสมัยอยุธยาว่าอยู่ที่เขาสามบาตร ตำบลนาตาล่วง แล้วมีการย้ายที่ตั้งอีกหลายครั้ง จนในที่สุดมาตั้งที่ตำบลทับเที่ยง


ในอดีต เมืองตรังมักจะถูกกล่าวชื่อในฐานะส่วนหนึ่งของนครศรีธรรมราชมาตลอด จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงได้เปลี่ยนแปลงเป็นส่วนหนึ่งของหัวเมืองฝ่ายทะเลตะวันตก และต่อมาเมื่อมีระบบมณฑลเทศาภิบาล ตรังอยู่ในการปกครองของมณฑลภูเก็ต หลังการประกาศยุบเลิกระบบมณฑลเทศาภิบาล  ตรังเป็นจังหวัดหนึ่งของประเทศไทยมาจนปัจจุบัน

โกปี้กาแฟเมืองตรัง



    โกปี้ เป็นกาแฟดำที่ใส่นมข้นไว้ด้านล่าง แยกสีกันให้เห็นอย่างชัดเจน รสชาติอาจจะออกขมปลายนิด ๆ หรือถ้าอยากจะขมกว่านั้นอีกก็ให้สั่งว่า โกปี้ออ ที่หมายถึงกาแฟดำ ร้านกาแฟที่ตรัง ส่วนมากใช้กาแฟพันธุ์โรบัสต้าจากชุมพรมาบดคั่วและใช้วิธีชงแบบดั้งเดิม ซึ่งแต่ละร้านมีเอกลักษณ์การชงกาแฟที่แตกต่างกันไป อย่าง ร้านกาแฟทับเที่ยง ที่รสชาติเข้มข้นเป็นพิเศษออกมันหน่อยๆ

ติ่มซำอาหารเมืองตรัง










    ติ่มซำ เป็นเมนูอาหารเช้าคู่กับกาแฟ-หมูย่างมานาน แรกเริ่มเมนูติ่มซำจะมีแค่ฮะเก๋า ขนมจีบ เคียงคู่กับซาลาเปา บะจ่าง ขนมขึ้น และปาท่องโก๋หรือที่ชาวตรังเรียกว่า “จาโก๋ย” วิธีรับประทานคือ                ฉีกปาท่องโก๋ให้เป็นช่องตรงกลางเอาขนมจีบมาใส่แล้วราดด้วยน้ำจิ้ม ต่อมาปี 2552เมนูติ่มซำถูกนำไปเป็นเมนูอาหารเช้าของโรงแรมธรมรินทร์ และขึ้นชื่อเรื่องความอร่อย ขนมจีบก็มีการพัฒนาหลากรูปแบบขึ้น ทั้งขนมจีบห่อไส้กรอก ห่อหมูสับ ห่อไข่นกกระทา ห่อกุ้งสับ ปอเปี้ยะทอด อื่นๆ จนเป็นติ่มซำชุดใหญ่เต็มโต๊ะ ที่เห็นร้านกันอยู่ในปัจจุบัน และสิ่งที่ทำให้ขนมจีบอร่อยยิ่งขึ้นก็คือ น้ำจิ้มที่มีส่วนผสมของ “น้ำส้มเจื่อง” เคล็ดลับความอร่อยตัวจริง สูตรชาวตรังโดยแท้หาที่อื่นไม่ได้ ใช้จิ้มได้ทั้งหมูย่างและขนมจีบ สำหรับอาหารเช้าตามแบบฉบับเมืองตรังหากินได้ในเมือง โดยเฉพาะที่ถนนห้วยยอดมีร้านอร่อยขึ้นชื่อหลายร้าน เช่น ร้านตรังหมูย่าง  ร้านพงษ์โอชา

ขนมเค้กเมืองตรัง






    ขนมเค้กเมืองตรัง ของฝากขึ้นชื่อของ จ.ตรัง ถือกําเนิดหรือผลิตขึ้นครั้งแรกที่ ต.ลําภูรา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง โดยชาวจีนไหหลำ
เค้กตรังยุคแรกที่เป็นที่รู้จักกันคือ “เค้กขุกมิ่ง” ได้ชื่อจาก ขุกมิ่ง แซ่เฮง เจ้าตำรับขนมเค้กเมืองตรังที่อพยพเดินทางมาเมืองไทยโดยเรือ และทำงานที่ จ.นราธิวาส เมื่อปี พ.ศ.2472  ต่อมาเดินทางมาตั้งรกรากแต่งงานอยู่ที่ จ.ตรัง เปิดร้านกาแฟที่ ต.ลำภูรา ก็คิดทำขนมของตนเองเพื่อกินคู่กับกาแฟ โดยสังเกตวิธีทำเค้กมาจากร้านขนมที่ อ.ทับเที่ยง แล้วทดลองคิดค้นจนได้ขนมเค้กเมืองตรัง ที่กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปจนปัจจุบัน
   ขนมเค้กเมืองตรัง เป็นขนมที่พัฒนามาจากขนมไข่ของคนจีน          คนตรังยุคแรก เรียกว่า “ขนมไข่ไก่” ใช้ในพิธีแต่งงาน นิยมใส่ในขันหมาก แต่คิดรูปแบบใหม่ แทนที่จะทำเป็นก้อนกลมๆ เล็กๆ เหมือนขนมไข่ทั่วไป ก็คิดทำเป็นรูปแบบเค้กก้อนกลมใหญ่ ใส่กล่อง มีเครื่องแต่งหน้าและปรุงแต่งกลิ่นรสต่างๆ เป็นของว่างกินคู่กับกาแฟ ชาวจีนไหหลำเรียกด้วยสำเนียงตนเองว่า “ขนมเก็ก” ที่มีส่วนประกอบหลักเป็นแบบขนมไข่ของคนจีน เมืองตรังรวมตัวกันพัฒนาขนมเค้กในนาม “ชมรมขนมเค้กจังหวัดตรัง” โดยมี นายยี่เค้ง วงศ์สัมพันธ์ เจ้าของร้านเค้กรสเลิศ เป็นประธานชมรม มีการเผยแพร่และจัดสอนแก่ผู้ผลิตรายย่อยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เค้กตรังมีรสชาติ คุณภาพ และมาตรฐานเดียวกัน ปัจจุบัน จ.ตรัง มีการทำขนมเค้กเป็นกิจการในครัวเรือนกันอย่างแพร่หลาย และพัฒนาจนมีรสต่างๆ มากมาย เช่น รสกาแฟ ใบเตย เค้กสามรส เค้กสี่รส เค้กนมสด เค้กมะพร้าว เค้กเผือก เค้กส้ม เค้กชาเขียว เค้กขนุน เค้กลิ้นจี่ เค้กเนย เค้กพุทรา เค้กผลไม้ เค้กงาดำ เค้กอบกรอบ ฯลฯ


หมูย่างอาหารเมืองตรัง




    หมูย่าง การย่างหมูทั้งตัวของเมืองตรังจะมีหนังกรอบตามแบบโบราณ รสชาติกลมกล่อมด้วยเครื่องเทศที่เป็นสูตรเฉพาะ รับรองว่าถ้าไม่ใช่คนตรังโดยกำเนิดไปย่างอย่างไรก็ไม่เหมือน นักท่องเที่ยวที่ต้องการหมูย่างเป็นของฝากหาซื้อได้ในตลาดสด หรือตามแผงร้านขายน้ำชาบริเวณถนนห้วยยอด ในเขตเทศบาลเมืองตรัง

หอนาฬิกา






    หอนาฬิกา เป็นอีกหนึ่งสถานที่สำคัญ หรือ แลนค์มาร์ค (Landmark) นอกจากจะเป็นหอสุงสำหรับชาวตรังไว้ดูเวลาแล้วยังเป็นวงเวียนรถรถยนต์ อีกทั้งจุดนัดพบ ของชาวตรังและนักท่องเที่ยว ทั้งนี้ยังเป็นสถานที่จัดงาน ในเทศกาล สำคัญๆ ของเมืองตรังหลายๆ เทศกาล
  หอนาฬิกาประจำจังหวัดตรังเป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของจังหวัด ซึ่งตั้งตระหง่านอยู่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด ปัจจุบันทางเทศบาลนครตรังได้ปรับปรุงทิวทัศน์บริเวณถนนโดยรอบหอนาฬิกา เพื่อเป็นสถานที่สำหรับนักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชมความสวยงามของเมืองตรังในยามเย็นได้อีกด้วย ซึ่งมีเรื่องราว ตำนานของสถานที่แห่งนี้ ที่น่าสนใจมาก
  บริเวณสี่แยกหอนาฬิกา เดิมเป็นที่ตั้งหอกระจายข่าวของเทศบาลเมืองตรังครับ ที่มีโครงสร้างเป็นไม้ สร้างในสมัยของ นายทุ่น อ่อนสนิท เป็นนายกเทศมนตรี (ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 3 ระหว่าง พ.ศ. 2483-2488) ชาวบ้านเรียกกันว่า "หอแหลงได้" เพราะเทศบาลจะถ่ายทอดข่าววิทยุกระจายเสียงเป็นประจำทั้งเช้าและเย็น 
คนทับเที่ยงถือเป็นที่ชุมชนฟังข่าวและวิจารณ์เหตุการณ์บ้านเมืองไปด้วยกัน ครั้นเมื่อถึง พ.ศ. 2504 เทศบาลสร้างหอนาฬิกาขึ้นแทน ความสูงวัดได้ 15 เมตร ฐานปรับพื้นที่ต่างระดับ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เมตร
ต่อมา พ.ศ. 2539 ทางเทศบาลได้ติดตั้งระบบอักษรวิ่งด้วยคอมพิวเตอร์ ทำให้มีรูปทรงที่เปลี่ยนไปจากเดิม ปีพ.ศ.2548 เทศบาลได้ปรับปรุงอีกครั้งโดยถอดระบบอักษรวิ่งออก ทำให้หอนาฬิกากลับคืนสู่สภาพเดิม

เกาะไหง








    เกาะไหง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตรอยต่อของ จังหวัดกระบี่และตรัง แต่ด้วยการเดินทางจากจังหวัดตรังจะสะดวกสบายใกล้กว่า จึงจัดให้เป็นกลุ่มสถานที่ท่องเที่ยวในเขตทะเลตรัง เกาะไหงเป็นเกาะที่มีหาดทรายสีขาวสะอาดทอดยาวตลอดแนวฝั่งตะวันออก อยู่ในมุมซี่งเป็นแหล่งกำบังคลื่นลมจากมหาสมุทรได้ดี จึงเป็นที่เหมาะแก่การเล่นน้ำทะเลเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งยังมีท่าเรือระดับมาตรฐานในโซนทะเลอันดามันใต้ ทำให้จากที่นี่คุณสามารถเดินทางไปที่อื่นๆ ได้อย่างง่ายดาย เกาะไหงจึงเป็นศูนย์กลางของการเดินเรือระหว่าง ภูเก็ต, เกาะพีพี, เกาะลันตา, และเกาะทางใต้อื่นๆ เช่น เกาะมุก, เกาะกระดาน, เกาะลิบง,เกาะหลีเป๊ะ แม้กระทั่งเกาะลังกาวี ของประเทศมาเลเซียอีกด้วย
   การเดินทางไปเกาะไหง 
การเดินทางไปเกาะไหงแนะนำให้ใช้บริการทัวร์ 4 เกาะ (เกาะมุก เกาะเชือก เกาะม้า เกาะกระดาน) ราคาประมาณ 700-800 บาท แล้วให้เรือส่งเกาะไหง เวลาเข้าฝั่ง รีสอร์ทแต่ละแห่งจะนำเรือหางยาวมารับจากเรือทัวร์เข้าฝั่ง